รัว ๒

วิธีบรรเลงที่ทำเสียงหลาย ๆ พยางค์ให้สั้นและถี่ที่สุด ถ้าเป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด เช่น จะเข้ ก็ใช้ไม้ดีด ดีดเข้าออกสลับกันเร็ว ๆ ที่เรียกว่า “รัวไม้ดีด” เครื่องดนตรีประเภทสี เช่น ซอ ก็ใช้คันชักสีเข้าออกสั้น ๆ เร็ว ๆ ที่เรียกว่า “รัวคันชัก” เครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น ขลุ่ย ก็รัวด้วยนิ้วปิดเปิดให้ถี่และเร็วที่สุด ที่เรียกว่า “รัวนิ้ว” เครื่องดนตรีประเภทตี เช่น ระนาดเอก ก็ใช้ตีสลับกัน ๒ มือ

 วิธีรัวของเครื่องดนตรีประเภทตีแยกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ รัวเสียงเดียวและรัวเป็นทำนอง

 ๑. รัวเสียงเดียว คือ การตีสลับกัน ๒ มือลงบนลูกระนาดลูกฆ้อง เป็นต้น ลูกเดียวกันให้ถี่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าทุก ๆ พยางค์จะต้องย่อยส่วนลงตามจังหวะ การตีรัวเสียงเดียวนี้อาจเลื่อนเสียงไปตามทำนองเพลงได้ตามพอใจ แต่ทั้ง ๒ มือจะต้องตีอยู่ที่ลูกเดียวกันเสมอ

 ๒. รัวเป็นทำนอง คือ การตีสลับกัน ๒ มือ ให้ถี่ ๆ และดำเนินเป็นทำนองไปด้วย เพราะฉะนั้น ทั้ง ๒ มือที่ตีลงบนลูกระนาดจึงเป็นคนละลูกโดยมาก และพยางค์ของเสียงจะต้องย่อยลงตามจังหวะ ให้ถี่เป็น ๒ เท่าของ “เก็บ” เช่นเดียวกับ “ขยี้” (ดู เก็บ; ขยี้ ประกอบ) แต่เวลา “ขยี้” ของระนาดเอกอยู่ในช่วงดำเนินจังหวะค่อนข้างช้าส่วนเวลา “รัว” เป็นทำนองอยู่ในช่วงดำเนินจังหวะเร็ว นอกจากนั้นเวลา “ขยี้” ระนาดตี ๒ มือเป็นคู่ ๘ ทุกเสียง แต่เวลา “รัว” ตีด้วยมือซ้ายและขวาสลับมือละเสียงต่อกันเป็นทำนอง ดังโน้ตสากลเปรียบเทียบต่อไปนี้

 นักดนตรีไทยผู้มีความสามารถพิเศษอาจบรรเลงระนาดเอกทางเดี่ยว ดำเนินทำนอง ด้วยการบังคับมือแต่ละข้างให้ตีสลับกันอย่างรวดเร็ว ชัดเจน และสม่ำเสมอได้ถี่ถึง ๖ ครั้งของจังหวะปรกติ ซึ่งเรียกว่า “รัว ๖ ชั้น”